นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานประชุมประจำปีซอฟต์แวร์พาร์ค 2013 ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตโดยขาดโนว์ฮาว หรือเทคโนโลยีของตัวเอง แต่เออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นโอกาสที่ดีมาก และจะทำให้การค้าขายเปลี่ยนแปลงมาก อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็เช่นเดียวกันที่จะเห็นแน่ๆ คือ การเคลื่อนย้ายของแรงงานและดิจิทัลเทรนด์ที่เกิดขึ้น
นายวีระพงษ์ ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท อาร์เดนท์ แคปปิตอล จำกัด กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของบริษัทใหม่ๆ ในไทย รวมถึงผู้พัฒนาซอฟต์แวร์คือ ตั้งบริษัทโดยไม่ศึกษาตลาดทั้งไทย และทั่วโลกก่อน ไม่มีทีมการตลาดที่ดีทำให้เติบโตได้ยาก แม้ฝีมือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ของนักพัฒนาไทยจะไม่เป็นรองใคร แต่เมื่อตลาดเปิดกว้างมากขึ้นก็ต้องเลือกคลัสเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวเองด้วย
นอกจากนี้การจะตั้งบริษัททำธุรกิจยังต้องประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 อย่างคือ มีสินค้า มีทีมที่ดี และการตลาดที่ดี รวมทั้งยังต้องแลกเปลี่ยนไอเดียกับคนให้มาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดูความเป็นไปได้ของธุรกิจ
ไทยเราโชคดีที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในประเทศเยอะ ทั้งที่เข้ามาแล้วและก าลังจะเข้ามาเป็นโอกาสดีที่เราจะเติบโตอย่างตอนที่เราเริ่มทำเว็บไซต์เอ็นโซโก้ เราไปดูเวนเดอร์ต่างๆ มา 20 กว่าราย ทำโฟกัส กรุ๊ป เพื่อดูว่าทำแล้วจะขายได้หรือไม่และยังทำบริษัทจำลองขึ้นมาก่อน เพื่อดูว่าธุรกิจจะเป็นไปได้แค่ไหน
นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอรุณสวัสดิ์ ดอทคอม จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านประกันภัยกล่าวว่า วงการซอฟต์แวร์ไทยจำเป็นต้องเริ่มปรับตั้งแต่ระบบการศึกษา และทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั้งนี้มองในฐานะผู้ประกอบการจะเห็นว่า คณะเกี่ยวกับไอทีในมหาวิทยาลัยมีหลากหลายมาก แต่ยังไม่แตกต่างและตอบโจทย์ตลาดตรงจุดไม่ได้ ขณะที่การเรียนการสอนส่วนใหญ่เน้นทฤษฎีทำให้เด็กขาดประสบการณ์การทำงานจริง
นางสาวชุลีภรณ์ ภูพืช ผู้จัดการฝ่ายที่ปรึกษาและสรรหาบุคลากร อี ไอที คอมพิวติ้ง รีครูตเมนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรด้านไอทีกำลังขาดแคลนมาก โดยเฉพาะกลุ่มโมบาย แอพพลิเคชั่นและโปรแกรมมิ่ง ซึ่งปัญหาที่บริษัทพบส่วนใหญ่คือ ความเชี่ยวชาญของนักศึกษาจบใหม่ยังไม่ตรงความต้องการของตลาด และรู้ไม่ลึก เช่น ความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์บางอย่าง เช่น ซีพลัส พลัส และซอฟต์แวร์อีอาร์พี นอกจากนี้บริษัทยังพบว่าผู้สมัครงานเกี่ยวกับไอทีจำนวนมากไม่ได้จบสาขาที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง แต่ใช้วิธีครูพักลักจำ หรือเรียนรู้เอง ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับงานเกี่ยวกับซอฟต์แวร์หลายอย่าง
ขณะที่การเกิดขึ้นของเออีซีในภูมิภาคนี้ สิงคโปร์ยังเป็นผู้นำมากกว่า ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งเตรียมบุคลากรด้านไอทีให้พร้อมตั้งแต่ช่วงที่กำลังศึกษา อย่างน้อยให้รู้ว่าเออีซีคืออะไร จะมีผลต่ออุตสาหกรรมอย่างไร และต้องเรียนรู้ภาษาที่สามเพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
นายณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่มหาวิทยาลัยพบอย่างหนึ่งคือ เด็กยุคนี้เลือกเรียนไอทีเพราะแฟชั่น เนื่องจากคลุกคลีกับคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อได้เรียนจริงกลับพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบทำให้เกิดปัญหาเรียนไม่จบ หรือย้ายไปเรียนสาขาอื่นแทนทั้งข้อจำกัดของการเรียนในมหาวิทยาลัย เน้นการสอนพื้นฐานเพื่อให้เด็กไปต่อยอดการเรียนรู้ส่วนที่สนใจมากกว่าจะสอนเรื่องเฉพาะเจาะจงซึ่งต้องอาศัยเวลามาก
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
รูปประกอบอินเตอร์เน็ต