การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนกำลังตื่นตัวและเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือที่ ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ผู้ที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสามารถปรับตัวได้ก็จะได้ประโยชน์ กับความร่วมมือดังกล่าว จากตลาดการบริโภคจำนวน 600 ล้านคน และขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มหาศาลประมาณ 1.85 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี พ.ศ. 2553 หรือประมาณ 6 เท่าของขนาดเศรษฐกิจของไทย แต่ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ หรือขาดความตระหนักรับรู้กับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ก็อาจเสียโอกาสหรือไม่สามารถแข่งขันในสังคมที่เปิดกว้างและมีคู่แข่งจำนวน มากได้ ผู้เขียนนึกถึงหนังสือที่โด่งดังเรื่อง The Third Wave (คลื่นลูกที่สาม) ของ Alvin Toffler นักอนาคตวิทยาชั้นนำของโลก ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 แต่ยังคงสอดคล้องกับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน โดยหนังสือดังกล่าวได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคต่างๆ ของโลก นับตั้งแต่ยุคสังคมเกษตรกรรมมาสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรมและยุคสังคมหลัง อุตสาหกรรม (post-industrial society) โดยสังคมที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน
ซึ่งเป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร (information age) และสามารถยืนอยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงได้ก็จะสามารถอยู่รอดและเป็น ผู้ชนะ ในทางตรงกันข้ามหากสังคมใดตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆ เสื่อมลงและถูกแทนที่โดยผู้ที่อยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
การสำรวจความรู้และความเข้าใจของนักศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศต่อพัฒนาการของประชาคมอาเซียน อาจเป็นตัวบ่งชี้อันหนึ่งว่า สังคมใดมีความตระหนักรับรู้และเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมาก น้อยเพียงใด นักศึกษาคือปัญญาชนที่ในอนาคตจะทำหน้าที่ผู้นำของสังคม มุมมองของคนเหล่านี้จึงอาจเป็นพื้นฐานของการปรับตัวของแต่ละสังคมในอนาคตได้ จากงานศึกษาเรื่อง Attitudes and Awareness toward ASEAN: Findings of a Ten Nation Survey (ทัศนคติและการตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน: ข้อค้นพบจากการสำรวจสิบประเทศ) ของ ASEAN Foundation (มูลนิธิอาเซียน) เมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยนักวิจัยหลักสองท่าน ได้แก่ Dr. Eric C. Thompson จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ ผศ.ดร.จุลนี เทียนไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำรวจนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสมาชิกอา เซียนทั้งสิบประเทศ (อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยมลายา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น) จำนวนประเทศละ 200-220 คน รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ทำให้เราทราบถึงความรู้ความเข้าใจและทัศนคติต่ออาเซียนของปัญญาชนทั้งสิบ ประเทศ โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญ ดังนี้
- ภาพรวมต่ออาเซียน นักศึกษาส่วนใหญ่รวมทั้งไทยมองอาเซียนในด้านบวก ส่วนนักศึกษาจากกัมพูชา ลาวและเวียดนามจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษต่อความร่วมมือกับอาเซียน ส่วนสิงคโปร์จะมองอาเซียนทั้งบวกและลบควบคู่กัน ขณะที่พม่าจะมีทัศนคติในทางลบหรือความแคลงใจกับอาเซียนมากกว่าประเทศอื่น
- ความเป็นพลเมืองอาเซียน นัก ศึกษาร้อยละ 88.5 คิดว่าประเทศของตนได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอาเซียน และประมาณร้อยละ 70 คิดว่าตนจะได้ประโยชน์จากอาเซียน โดยนักศึกษาจากกัมพูชา ลาวและเวียดนามมีมุมมองเชิงบวกมากที่สุด ขณะที่นักศึกษาจากสิงคโปร์และพม่าเห็นด้วยในเรื่องนี้น้อยกว่าชาติอื่น ส่วนไทยเห็นด้วยร้อยละ 89.5 และร้อยละ 74.5 ตามลำดับ ส่วนประเด็นที่ว่า ตนเป็นพลเมืองอาเซียน (ASEAN Citizen) หรือไม่นั้น ร้อยละ 76.8 ของนักศึกษาอาเซียนทั้งหมดเห็นด้วยว่าตนเป็นพลเมืองอาเซียน ส่วนนักศึกษาไทยเห็นด้วยร้อยละ 67 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ
- ความรู้ความเข้าใจต่ออาเซียน โดยเฉลี่ยนักศึกษาส่วนใหญ่สามารถระบุชื่อประเทศสมาชิกอาเซียนได้ 9 ประเทศจาก 10 ประเทศ และสามารถระบุตำแหน่งประเทศอาเซียนในแผนที่ได้ 7 จาก 10 ประเทศ และร้อยละ 75 สามารถจดจำธงของอาเซียนได้ ยกเว้นกัมพูชา (ตอบถูกร้อยละ 63.1) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 38.6) และไทย (ร้อยละ 38.5) และ นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่จดจำปีที่มีการก่อตั้งอาเซียนได้น้อยที่สุดแม้ ว่าอาเซียนจะถือกำเนิดในประเทศไทยก็ตาม โดยตอบถูกเพียงร้อยละ 27.5 เท่านั้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคคือร้อยละ 49.5
- ทัศนคติต่อประเทศอาเซียนอื่น นัก ศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศที่ตนคุ้นเคยที่สุดในอาเซียนคือไทยกับสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจากประเทศในอินโดจีนกลับรู้สึกคุ้นเคยกับสิงคโปร์และมาเลเซีย มากกว่าเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงเช่นไทย นอกจากนี้ นักศึกษาถึงร้อยละ 91.8 ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนอื่น ส่วนนักศึกษาไทยเห็นด้วยในข้อนี้เพียงร้อยละ 87.5 ซึ่งน้อยเป็นอันดับที่สี่รองจากพม่า สิงคโปร์และบรูไน
- ทัศนคติต่อการเดินทางและทำงาน ประเทศอาเซียนที่นักศึกษาอยากเดินทางไปมากที่สุดคือสิงคโปร์ ไทย มาเลเซียและเวียดนาม ส่วนประเทศที่นักศึกษาอยากไปทำงานได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนและไทยตามลำดับ โดยกว่าครึ่งหนึ่งเลือกสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพที่กำลังจะเปิดเสรีใน อนาคตอันใกล้
- แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน ส่วนใหญ่มาจากโทรทัศน์ โรงเรียน หนังสือพิมพ์และหนังสือ รองลงไปได้แก่อินเตอร์เน็ตและวิทยุ ขณะที่แหล่งข้อมูลที่สำคัญน้อยที่สุดได้แก่ ครอบครัว การเดินทาง ภาพยนตร์ ดนตรีและการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศจะมีการบริโภคสื่อที่แตกต่างกัน โดยวิทยุจะมีความสำคัญในประเทศอินโดจีนมากกว่าสื่ออื่น เป็นต้น
- มิติความร่วมมือของอาเซียนที่สำคัญ ในสายตาของนักศึกษาอาเซียน เรียงตามลำดับได้แก่ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การศึกษา ความมั่นคงและการทหาร กีฬา วัฒนธรรม และการเมือง ส่วนประเด็นสำคัญของความร่วมมือที่สำคัญที่สุดได้แก่ การลดความยากจน การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา และความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามลำดับ
-
ความรู้และทัศนคติของนักศึกษาแต่ละประเทศในภาพรวม
- บรูไน มีความความเข้าใจเรื่องอาเซียนดีมาก และมีทัศนคติในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่
- กัมพูชา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนไม่ดีนัก แต่มีทัศนคติในเชิงบวกและกระตือรือร้นต่ออาเซียนมาก
- อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย มีความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติในเชิงบวก โดยมีค่าเฉลี่ยระดับกลางๆ ของภูมิภาค
- ลาว และเวียดนาม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนดีมาก และมีทัศนคติในเชิงบวกและกระตือรือร้นต่ออาเซียนมาก
- พม่า มีความรู้ความเข้าใจต่ออาเซียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และมีความเห็นทั้งบวกและลบต่ออาเซียน
- ฟิลิปปินส์ มีความรู้ความเข้าใจต่ออาเซียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค แต่มีความเห็นในทางบวก
- สิงคโปร์ มีความรู้ความเข้าใจต่ออาเซียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค คิดว่าตนเป็นพลเมืองอาเซียนน้อยกว่านักศึกษาชาติอื่น แต่เห็นว่าประเทศตนได้ประโยชน์อย่างมากจากอาเซียน
จะต้องพัฒนาตนเอง และขวนขวายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้มากขึ้น เพื่อให้รู้จักอาเซียนอย่างจริงจัง ดังคำสอนของซุนวูที่ว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" แต่หากเรายังไม่ (ค่อย) รู้จักและสนใจเพื่อนบ้านเท่าที่ควร ก็คงถูกคลื่นที่สาม (หรืออาจจะเป็นลูกที่สี่ในอนาคตอันใกล้) ของ Alvin Toffler ถาโถมเข้ามาจนสำลักน้ำหน้าเขียวหน้าเหลืองไปตามๆ กัน คงถึงเวลาที่พวกเราชาวไทยต้องหัดโต้คลื่นกันอย่างจริงจังแล้วสินะ